Activity
|
Visitors
42.8% | United States | |
37.1% | Thailand | |
8.4% | Australia |
Today: | 13 |
This Week: | 115 |
This Month: | 118 |
ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire alarm System)
ปัจจุบันมีอาคารสูง ศูนย์การค้าหรือศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ เกิดขึ้นมากมายและรวดเร็วในบ้านเรา สถานที่ดังกล่าวจึงมีผู้คนเข้าไปใช้พื้นที่มากมาย และถ้าเกิดอุบัติเหตุจากเหตุเพลิงไหม้ขึ้นมาโดยไม่มีการแจ้งเตือนที่ดี ก็อาจนำความเสียหายมาให้สถานที่นั้นๆโดยเฉพาะการสูญเสียทางชีวิต
ดังนั้นระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้จึงเป็นอุปกรณ์ป้องกันที่สำคัญสำหรับอาคารต่างๆ นั้นหมายความว่า ในขณะมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นภายในอาคาร ถ้าเรามีระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่ดี จะทำให้เรารู้ถึงจุดเกิดเหตุและแจ้งเหตุรวดเร็วสามารถอพยพผู้ทีอยู่อาศัยออกจากพื้นที่ที่เกิดเหตุได้อย่างปลอดภัย ก่อนที่เพลิงจะลุกไหม้มากขึ้นจนไม่สามารถอพยพได้
ปัญหาที่พบในการใช้งานโดยส่วนหนึ่งคือบุคคลทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักอุปกรณ์ และการใช้งานในระบบนี้ เช่น
อุปกรณ์มือดึงหรือแมนนวล (Manual pull station) เป็นอุปกรณ์ที่ดึงเมื่อต้องการแจ้งเหตุในขณะที่มีเพลิงไหม้เกิดขึ้น แต่บางครั้งมีคนที่ไม่รู้ไปดึง ระบบก็จะแจ้งเหตุแต่ไม่มีเหตุเพลิงไหม้ ถ้าเป็นเช่นนี้บ่อยๆ คนที่อาศัยอยู่หรือทั่วไปก็จะไม่เชื่อมั่นในระบบ และถ้าในกรณีที่มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นจริง ระบบมีการแจ้งเหตุแล้วคนก็อาจจะไม่หนีหรืออพยพ
- มารู้จักกับระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้?
ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้นั้นมีหน้าทีแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้น และจะมีระบบสปริงเกลอร์หรือระบบอื่นๆทำหน้าที่ในการดับเพลิง หรืออาจจะมีการทำงานร่วมกันก็ได้ ซึ่งในการออกแบบในระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้จะต้องให้รู้พื้นที่หรือจุดเกิดเหตุได้เร็ว และมีสัญญาณแจ้งเหตุเพื่อแจ้งเตือนบุคคลในพื้นที่นั้นๆ ให้อพยพที่โดยรวดเร็วและปลอดภัย ดังนั้นการออกแบบติดตั้งจึงต้องให้มีความเหมาะสมกับลักษณะอาคารในแต่ละประเภท โดยทั่วไประบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ มีการออกแบบติดตั้งยู่ด้วยกัน 2 ระบบ คือ
1. ระบบการแจ้งเหตุเป็นโซน (Conventional System)
2. ระบบการแจ้งเหตุเป็นจุด (Addressable System)
1. ระบบการแจ้งเหตุเป็นโซน (Conventional System)
เป็นการแบ่งพื้นที่การควบคุมของอาคารออกเป็นส่วนๆหรือโซน ซึ่งในการแบ่งพื้นที่โซนจะมีหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานกำหนด เพื่อให้มีระยะค้นหาในจุดที่เกิดเหตุได้
ในการออกแบบการแจ้งเหตุในแบบนี้ จะทำให้เรารู้ถึงพื้นที่การเกิดเหตุแบบเป็นโซนกว้างๆ จะไม่ทราบจุดเกิดเหตุโดยตรง อาจจะต้องตรวจสอบจุดเกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง ระบบนี้มักจะติดตั้งในอาคารที่มีขนาดเล็ก
2. ระบบการแจ้งเหตุแบบระบุตำแหน่ง (Addressable System )
ในระบบการแจ้งเหตุแบบนี้ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ระบบสามารถบอกพื้นที่หรือตำแหน่งการเกิดเหตุได้โดยตรง ทำให้สามารถเข้าระงับเหตุและอพยบคนออกจากพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ลดการเสียหายลงได้
อุปกรณ์ตรวจจับในระบบนี้ก็ต้องใช้อุปกรณ์ที่สามารถระบุตำแหน่งได้( addressable device) ส่วนมากมักติดตั้งในอาคารที่มีขนาดใหญ่
- ส่วนประกอบหลักของระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm System)
ส่วนประกอบหลักๆของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้มีดังต่อไปนี้
1. ตู้ควบคุม ( Control Panel )
- ชุดจ่ายไฟ ( Power Supply Unit )
- ชุดสำรองไฟ ( Battery Unit )
2. อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ ( Initiating Devices )
3. อุปกรณ์แจ้งสัญญาณ ( Notification Appliance Devices,NAC )
4. อุปกรณ์แยกแจ้งสัญญาณ ( Graphic Annunciator )
5. อุปกรณ์เสริม( Auxiliary Devices )
1. ตู้ควบคุม (Fire Alarm Control Panel)
ตู้ควบคุมสัญญาณระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm Control Panel) เป็นชุดควบคุมการทำงานของระบบหรือเป็นหน่วยปฏิบัติการ สามารถแสดงผลการตอบสนองของอุปกรณ์ตรวจจับ และส่งสัญญาณแจ้งเหตุไปตามตำแหน่งต่างๆที่ออกแบบเอาไว้ โดยทั่วไปบนตู้ควบคุมควรจะต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ
- cpu
- ชุดอุปกรณ์เริ่มสัญญาณ ( Initiating Devices )
- ชุดอุปกรณ์แจ้งสัญญาณ ( Notification Appliance Devices,NAC )
- Key pad
- ไฟ( LED ) บอกสถานะต่างๆ เช่น
- ไฟแสดงแหล่งจ่ายไฟ ( Power Supply )
- ไฟแสดงสถานะการตรวจจับของอุปกรณ์ (Alarm)
- ไฟแสดงสถานะขัดข้องของอุปกรณ์ตรวจจับและระบบ (Trouble) เป็นต้น
- ฯลฯ
- ปุ่มการควบคุมการทำงานต่างๆเบื้องต้น เช่น
- ปุ่มรับทราบเหตุการณ์ ( Acknowledge )
- ปุ่มหยุดเสียงการแจ้งเหตุ ( Silence )
- ปุ่มเคลียร์เหตุการณ์ต่างๆ ( Reset )
- ฯลฯ
- ชุดจ่ายไฟ (Power Supply Unit)
จะเป็นชุดจ่ายไฟให้กับระบบทั้งหมดต้องทำการคำนวณเพื่อให้ได้ขนาดที่สามารถจ่ายกระแสไฟให้เพียงพอกับระบบในขณะที่ต้องแจ้งเหตุพร้อมกันทั้งอาคาร และมีระบบชาร์จไฟอัตโนมัติ(Charger)
- ชุดสำรองไฟ (Battery Unit)
เป็นชุดสำรองไฟที่ใช้ในระบบ ในกรณีที่กระแสไฟหลัก (Main Power Supply ) ไม่มีจ่ายให้กับระบบ ชุดไฟสำรองก็จะทำหน้าที่แทน ส่วนระยะเวลาในการใช้งาน ( Ahr. ) ขึ้นอยู่กับการคำนวณมาจากการใช้จำนวนอุปกรณ์ตรวจจับและอุปกรณ์แจ้งเหตุภายในวงจรนั้น ตามมาตรฐานแล้ว พิกัดการใช้งานของแบตเตอรี่ เมื่อไม่มีแหล่งจ่ายไฟจะต้องสามารถจ่ายไฟให้ระบบในสถาวะปกติได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และในสถาวะแจ้งเหตุได้ไม่น้อยกว่า 15 นาที
2. อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ ( Initiating Devices )
อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ เป็นอุปกรณ์ตรวจจับการเกิดเหตุเพลิงไหม้ (Detector) ภายในวงจรการควบคุมนั้นๆ สามารถตรวจจับได้ทั้งความร้อน ควันและเปลวไฟ เป็นต้น ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ อุปกรณ์ตรวจจับจะทำหน้าตรวจจับเหตุเพลิงไหม้และจะส่งสัญญาณไปให้ตู้ควบคุม เพื่อประมวลผลต่อไป
ในอุปกรณ์เริ่มสัญญาณสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
- อุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบบมือดึงจากบุคคล (Manual Pull Station)
- อุปกรณ์เริ่มสัญญาณโดยอัตโนมัติ (Detectors)
ซึ่งจะมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 อุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบบมือดึงจากบุคคล (Manual Pull Station)อุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบบมือดึงจากบุคคล ( Manual Pull Station) เป็นอุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบบใช้มือดึง หรือกด หรือทุบกระจก (Break Glass) จากบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ ส่วนใหญ่จะติดตั้งไว้ในจุดต่างๆที่ที่คนเห็นได้ง่าย
2.2 อุปกรณ์เริ่มสัญญาณโดยอัตโนมัติ (Detectors)
เป็นอุปกรณ์เริ่มสัญญาณ ที่สามารถตรวจจับการเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยอัตโนมัติซึ่งมีหลายชนิดตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ของการใช้งาน สามารถแยกตามชนิดต่างๆดังนี้
2.2.1 อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector)
ป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ตรวจจับความร้อนจากการเกิดเหตุเพลิงไหม้ ในการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ชนิดนี้ ต้องเลือกอุณหภูมิของอุปกรณ์ให้เหมาะสม โดยให้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในห้องหรือพื้นที่ที่ติดตั้งด้วย แต่อุปกรณ์ชนิดนี้ไม่เหมาะที่จะติดตั้งในห้องพักหลับนอน สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ
1. อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน ชนิดกำหนดอุณหภูมิ (Fixed Temperature)
อุปกรณ์ชนิดนี้จะทำงานเมื่อมีอุณหภูมิถึงจุดที่กำหนดอุณหภูมิเดียว โดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิกำหนดอยู่ที่ 135’ F หรือ 200’ F (หรือมากกว่านั้น) พื้นที่ที่ควรติดตั้งอุปกรณ์ชนิดนี้ เช่น ในห้องครัว หรือห้องเครื่อง ห้องหม้อไอน้ำ (Boiler Room) เป็นต้น
2. อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน ชนิดคอมบิเนชั่น ( Combination)
หมายความว่า ภายในอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนชนิดนี้จะมีการตรวจจับอยู่ 2 แบบอยู่ในตัวเดียวกัน คือ ทำงานเมื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเกินที่กำหนด ( Rate of Rise Temperature) และ ตรวจจับที่อุณหภูมิกำหนด (Fixed Temperature) เมื่อรวมกันจึงเป็นชนิดคอมบิเนชั่นหรือ
( Rate of Rise & Fixed Temperature ) โดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ 135’ F หรือ 200’ F เช่นกัน
การทำงานของอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนชนิด ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเกินที่กำหนด ( Rate of Rise Temperature ) นั้นหมายความว่า อุปกรณ์จะทำงานที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นไปในอัตรา 15 ‘ F( 8’ C ) ต่อนาที อุปกรณ์ก็จะทำงาน
2.2.2 อุปกรณ์ตรวจจับควัน ( Smoke Detector )
อุปกรณ์ตรวจจับควัน ( Smoke Detector )เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ตรวจจับควันจากการเกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการตรวจจับได้อย่างรวดเร็ว จะเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบเพื่อป้องกันชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ อุปกรณ์ตรวจจับควัน แบบ Ionization และ อุปกรณ์ตรวจจับควัน แบบ Photoelectric
2.2.3 อุปกรณ์ตรวจจับควัน แบบลำแสง ( Projected Beam Detector )
อุปกรณ์ตรวจจับควัน แบบลำแสง( Projected Beam Detector ) เป็นอุปกรณ์ตรวจจับควันอีกชนิดหนึ่ง จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่เป็นตัวรับ ( Receiver ) และอุปกรณ์ที่เป็นตัวส่ง ( Transmitter ) ทำงานโดยการบังแสงของควันทีลอยเข้ามาในแนว ระหว่างตัว รับ( Receiver ) กับตัว ส่ง ( Transmitter ) แต่ปัจจุบันอุปกรณ์ที่เป็นตัวรับและตัวส่งจะอยู่ในตัวเดียวกันและใช้เป็นแผ่นสะท้อน(reflex)ในการสะท้อนกลับมานิยมออกแบบใช้งานในอาคารที่มีลักษณะกว้าง ใหญ่ เช่น คลังสินค้า (Warehouse) เป้นต้น
2.2.4 อุปกรณ์ตรวจจับควัน แบบใช้ในท่อลม ( Duct Smoke Detector )
อุปกรณ์ตรวจจับควัน แบบใช้ตรวจจับควันในท่อลม ( Duct Smoke Detector ) โดยส่วนใหญ่จะติดตั้งในบริเวณท่อดูดลม ( Air Return ) ในระบบปรับอากาศอุปกรณ์ตรวจจับควันชนิดนี้จะเป็นชนิด Photoelectric ซึ่งจะมีการทำงานคือเมื่อมีควันเกิดขึ้นภายในท่อลม จะผ่านมาที่ท่อดูด (Exhaust Tube) ของอุปกรณ์ตรวจจับ ก็จะทำการดูดควันเข้าไปในตัวอุปกรณ์ ระบบก็จะทำงาน
2.2.5. อุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ (Flame Detector )
อุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ (Flame Detector ) เป็นอุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟในขณะที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ มักจะเอาไว้ป้องกันในบริเวณที่มีวัตถุไวไฟชนิดที่เกิดการลุกไหม้อย่างรวดเร็วและไม่เกิดควัน แต่จะเกิดเปลวไฟขึ้นทันที มีอยู่ 2 ชนิด คือ
- ชนิดตรวจจับแสงที่เป็นแสงอินฟาเรด(Infrared) เช่น การลุกไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น
- ชนิดตรวจจับแสงที่เป็นแสงอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) เช่น การลุกไหม้ของก๊าซ น้ำมันก๊าด สารทำละลาย หรือการเชื่อมโลหะ เป็นต้น
2.2.6. อุปกรณ์ตรวจสอบน้ำไหล ( Water Flow switch ) และตรวจสอบสถานะการเปิด-ปิดวาล์วน้ำ ( Supervisory Switch ) เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งในระบบสปริงเกลอร์หรือดับเพลิงเพื่อตรวจสอบการทำงานของระบบดังนี้
- อุปกรณ์ตรวจสอบน้ำไหล ( Water Flow switch ) จะติดตั้งอยู่ที่ท่อดับเพลิงของแต่ละชั้นตรวจสอบการไหลของน้ำในขณะที่ระบบสปริงเกลอร์ ทำงาน น้ำจะไหลผ่านอุปกรณ์ ทำให้ใบพัดเคลื่อนที่ หน้าคอนเทค( NO,NC) ที่อยู่ด้านบนอุปกรณ์จะเปลี่ยนสถานะ ซึ่งจะไปต่อวงจรไปยังระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัย
- อุปกรณ์ตรวจสอบสถานะของวาล์วน้ำ ( Supervisory Switch ) จะติดตั้งที่อยู่ที่ตัววาล์ว ทำหน้าที่ตรวจสอบสถานะของวาล์วน้ำว่า เปิด หรือ ปิด อยู่ขึ้นอยู่กับความต้องการว่าจะตรวจสอบในสถานะใด
3. อุปกรณ์แจ้งสัญญาณ ( Notification Appliance Devices )
อุปกรณ์แจ้งสัญญาณ ( Notification Appliance Devices ) เป็นอุปกรณ์เสียงหรือแสงเพื่อแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในบริเวณ หรืออาคารนั้นๆ โดยวัตถุประสงค์เพื่อต้องการอพยพบุคคลที่อยู่บริเวณนั้น สัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้จะอยู่หลายชนิด เช่น แจ้งเหตุด้วยเสียงจาก กระดิ่ง ( Bell ) , เสียงอิเล็คทรอนิคส์ ( Horn ), เสียงสโลว์-วูฟ และเสียงประกาศจากลำโพง ( Speaker ), และ แจ้งเป็นแสงกระพริบ ( Strob ) เป็นต้น สามารถเลือกใช้ตามความต้องการและชนิดของอาคารว่าจะใช้เสียงชนิดใด โดยต้องมีระดับความดังตามมาตรฐานกำหนด
4. อุปกรณ์แยกแจ้งสัญญาณ ( Graphic Annunciator )
เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อดูจุดเกิดเหตุภายในอาคารได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะสามารถบอกตำแหน่งในการเข้าไประงับเหตุได้อย่างรวดเร็ว อุปกรณ์แยกแจ้งสัญญาณ ( Graphic Annunciator ) จะนิยมแสดงแผนผังของอาคารนั้นๆ และแสดงโซนหรือจุดของอุปกรณ์ตรวจจับตามตำแหน่งที่ออกแบบไว้
ถ้าระบบเป็นระบบการแจ้งเหตุเป็นจุด ( Addressable System) อาจจะแสดงเป็น Graphic Software บน คอมพิวเตอร์ก็ได้
5. อุปกรณ์เสริม( Auxiliary Devices )
เป็นอุปกรณ์เสริมในระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้เพื่อทำหน้าที่รับ-ส่งสัญญาณไปยังระบบอื่นๆ ของอาคาร เช่น
- ระบบบังคับลิฟต์ลงมาชั้นล่าง
- การปิดพัดลมในระบบปรับอากาศ
- การควบคุมปิด -เปิดประตูหนีไฟ
- ควบคุมระบบกระจายเสียงและประกาศแจ้งข่าว
- ทำงานร่วมกับระบบดับเพลิง
- ฯลฯ
ส่วนประกอบที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นเป็นเพียงองค์ประกอบของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้เบี้องต้นเท่านั้น ยังคงมีรายละเอียดและองค์ประกอบอีกมาก เช่น ระบบโทรศัพท์ (Firefighting Telephone System) หรือ ระบบการแจ้งเหตุเพื่ออพยพด้วยเสียงประกาศ (Voice Evacuated system) รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยี่ของระบบ โดยสามารถติดต่อเป็นระบบโครงข่าย (Net work System) หรือติดต่อและสั่งงานผ่าน Internet หรือ IP net work ได้อีกด้วย คงจะมีโอกาสชี้แจงในครั้งต่อไป